ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ภาวะผู้นำทางวิชาการ

ทฤษฎีภาวะผู้นำทางวิชาการ (Instructional Leadership)
 วีรพงษ์ ไชยหงษ์
 

             ภาวะผู้นำทางวิชาการ “Instructional Leadership” ได้กลายเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมท่ามกลางหมู่นักการศึกษาในฐานะเป็นผู้สร้างผลผลิตทางการศึกษา ซึ่งจะเริ่มเห็นได้จากงานวิจัยประสิทธิผลของโรงเรียนมีมากขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 และต้นปี ค.ศ. 1980 (Howley, 1989) ดังที่สอดคล้องกับงานวิจัยนั้น “ภาวะผู้นำทางวิชาการ” เป็นหนึ่งในเงื่อนไขของปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้การปฏิบัติของโรงเรียนมีความคาดหวังสูงต่อผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้น (Larson and others, 2006) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการเรียนรู้ของนักเรียนและผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ (Hopkins, 2001 : 16) และพบว่าองค์ประกอบความเป็นผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษามีความสัมพันธ์และเป็นตัวทำนายความมีประสิทธิผลของโรงเรียน (Buzzi, 1991)

ความหมายของภาวะผู้นำ
               ภาวะผู้นำ (Leadership) เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์การ เพราะมีผลกระทบต่อบุคคลและทรัพยากร ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ผู้นำที่มีการแสดง ออกซึ่งภาวะผู้นำจะส่งผลให้เกิดผลสำเร็จของงานที่มีประสิทธิผล

มีผู้ให้ความหมายของภาวะผู้นำไว้ ดังนี้

                เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ (2544 : 10) กล่าวว่า ภาวะผู้นำเป็นการใช้อิทธิพลของบุคคลหรือของตำแหน่งให้ผู้อื่นยินยอมปฏิบัติตามเพื่อที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของกลุ่มที่ได้กำหนดไว้ หรือสรุปได้ว่าภาวะผู้นำคือรูปแบบของอิทธิพลระหว่างบุคคล (Interpersonal Influence)

                ภาวิดา ธาราศรีสุทธิ (2547 : 5) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับภาวะผู้นำว่า ภาวะผู้นำนั้นเป็นศิลปะในการใช้อิทธิพลของผู้นำ เพื่อจูงใจผู้ร่วมงานให้ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ด้วยความร่วมมือร่วมใจอย่างเต็มใจ

                ดาฟท์ (Daft, 1999 : 5) กล่าวว่า ภาวะผู้นำเป็นกระบวนการที่มีความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับผู้ตาม ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายร่วมกัน

                อิแวนซีวิช และแมทเธสัน (Ivancevich and Matteson, 2002 : 425) นิยามความหมายว่า ภาวะผู้นำ เป็นกระบวนการของการใช้อิทธิพลต่อผู้อื่นเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายการดำเนินงานขององค์การ

                ยุคล์ (Yukl, 2002) กล่าวว่า ภาวะผู้นำ หมายถึง พฤติกรรมส่วนตัวของบุคคลคนหนึ่งที่จะชักนำกิจกรรมของกลุ่มให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน  

                สรุปได้ว่า ภาวะผู้นำ หมายถึงความสามารถหรือกระบวนการของผู้นำหรือผู้บริหารที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคลหรือกลุ่มเพื่อให้การดำเนินงานขององค์การบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน



ความหมายของภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา

                ภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา (Instructional Leadership) มีบทบาทสำคัญที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการเรียนรู้และการสอนในสถานศึกษาโดยตรง มีนักวิชาการได้ให้ความหมายของภาวะผู้นำทางวิชาการ ดังนี้

               ถาวร เส้งเอียด (2550 : 150) ให้ความหมาย ภาวะผู้นำทางวิชาการ หมายถึงความสามารถของผู้บริหารโรงเรียนในการนำความรู้ แนวคิด วิธีการ ตลอดจนเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการบริหารจัดการ ให้เกิดประโยชน์กับคณะครูและนักเรียน

              สิร์รานี วสุภัทร (2551 : 29) ได้นิยามความหมายของ ภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา หมายถึง การแสดงบทบาทหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ของผู้บริหารสถานศึกษาที่สามารถโน้มน้าว จูงใจ หรือชี้นำให้บุคลากรในสถานศึกษา และผู้เกี่ยวข้องเข้าใจและตระหนักในจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษา รวมพลัง และประสานสัมพันธ์กันเพื่อให้งานวิชาการซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนและคุณภาพของผู้เรียน อันเป็นภารกิจหลักของสถานศึกษาบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

             กลิคแมน (Glickman 1985 cited in Blasé and Blasé, 2000 : 131) กล่าวไว้ว่า ภาวะผู้นำทางวิชาการ คือการบูรณาการของงานเพื่อให้การช่วยเหลือโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานักเรียน การพัฒนาบุคลากร และการพัฒนาหลักสูตร

            เกอร์วิน (Girvin, 2001 : 1) ได้กล่าวถึงผู้บริหารในฐานะผู้นำทางวิชาการว่าผู้บริหารถือเป็นแกนกลางของความพยายามในฐานะผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ผู้จัดระเบียบองค์การ ผู้นำและผู้ประเมิน เพื่อเป็นการรับประกันความก้าวหน้าทางวิชาการของโรงเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทำให้นักเรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้สูงขึ้น

            แมคอีแวน (McEwan, 2003 : 6) ได้นิยามความหมายของ ภาวะผู้นำทางวิชาการ คือภาวะผู้นำที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อกระบวนการเรียนการสอน ประกอบด้วยครูผู้สอน นักเรียนและหลักสูตร มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน

            สรุปได้ว่า ภาวะผู้นำทางวิชาการ หมายถึง คุณลักษณะหรือพฤติกรรมที่แสดงออกของผู้บริหารสถานศึกษาในการร่วมมือกับคณะครูและผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการเรียนการสอนส่งผลให้ผู้เรียนบรรลุผลสำเร็จในการเรียนรู้

            มีนักวิชาการ นักการศึกษาได้กล่าวถึงบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหารสถานศึกษาในฐานะผู้นำทางวิชาการไว้มากมาย ดังนี้

            กิติมา ปรีดิลก (2545 : 155) ได้สรุปผลการวิจัยจากการศึกษาครูใหญ่ในรัฐอิลลินอยส์ พบว่าผู้บริหารที่จะประสบผลสำเร็จในการบริหารโรงเรียนควรทำหน้าที่และแสดงบทบาทในฐานะผู้นำทางวิชาการ ดังนี้

                1. ประเมินผลการทำงานของครู

                2. ตั้งความคาดหวังที่สูงเกี่ยวกับนักเรียนและครู

                3. เป็นรูปแบบของความมีมาตรฐานวิชาชีพที่สูง

                4. จัดให้มีและดำเนินการเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าประสงค์ของโรงเรียน

                5. คงความสัมพันธ์ภายในเชิงบวกกับบุคลากรทั้งในและนอกโรงเรียน

                6. จัดสร้างสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัยและคงความมีระเบียบ

                7. พัฒนาแผนการพัฒนาโรงเรียน

                8. จัดให้มีระบบการสื่อสารภายในที่ดี

                9. เข้มงวดต่อการคัดเลือกผู้จะมาดำรงตำแหน่งครู

           จักรพงศ์ ถาบุตร (2547 : 32 - 34) พบว่า บทบาทผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา คือ พฤติกรรมที่ผู้บริหารสถานศึกษาแสดงออก โดยนำเอาความรู้ ความสามารถ ความคิด เทคนิควิธีที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการบริหารสถานศึกษา เพื่อกระตุ้นแนะนำครูให้ปฏิบัติกิจกรรมการเรียนการสอนจนบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด และพัฒนาวิชาชีพครูให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยมีพฤติกรรมบ่งชี้ดังต่อไปนี้

                1. การจัดทำและการนำวัตถุประสงค์ทางวิชาการไปใช้

                2. การเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน

                3. การสร้างวัฒนธรรมและบรรยากาศที่นำไปสู่การเรียนรู้

                4. การสื่อสารเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ

                5. การตั้งความคาดหวังต่อผลงานสูง

                6. การพัฒนาความเป็นผู้นำครู

                7. การมีทัศนคติเชิงบวก

           ประสิทธิ์ เขียวศรี และคณะ (2548) ได้ทำการวิจัยเรื่อง รูปแบบการพัฒนาพฤติกรรมภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยการวิเคราะห์เอกสาร 22 รายการ และสนทนากลุ่มผู้เชี่ยวชาญพบว่า พฤติกรรมภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา แบ่งเป็น    3 ด้าน 23 ข้อ สรุปได้ดังนี้

                1. การบริหารจัดการโรงเรียน (School Management) ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความสามารถในการวางแผนยุทธศาสตร์ วางแผนปฏิบัติการ จัดโครงสร้างองค์การที่สนับสนุน การใช้ภาวะผู้นำทางวิชาการ บริหารการเปลี่ยนแปลง ระดมทรัพยากรจากแหล่งต่างๆมาใช้ และสร้างช่องทางการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ

                2. การบริหารจัดการหลักสูตรและการสอน (Curriculum and Instruction Management) ผู้บริหารสถานศึกษาต้องให้ความสำคัญของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน เน้นความสามารถและคุณภาพในการสอนของครู มีความสามารถในการนิเทศการสอนของครู ประเมินผลการเรียนการสอนของครูและนักเรียน ออกแบบ สร้างและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ประสานงานหลักสูตร ติดตาม กำกับ ดูแลการใช้หลักสูตร กระตุ้นให้กำลังใจครูและนักเรียนในการเรียนการสอน สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และบริหารเวลา พิทักษ์เวลาการเรียนการสอน โดยทำตัวให้พบเห็นอยู่เป็นนิจในโรงเรียนและชุมชน

                3. การบริหารตนเอง ทีมงานและชุมชน (Community Team and Personal Management) ผู้บริหารสถานศึกษาต้องเป็นแบบอย่างทางคุณธรรม จริยธรรม ยอมรับความแตกต่างทางความคิดและการกระทำของผู้อื่น คิดนอกกรอบ พัฒนาบุคลากรของโรงเรียนให้มีความเป็นผู้นำ มีความ สามารถในการสื่อสาร และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้ร่วมงานและชุมชน

            ฮอลลิงเจอร์ และเมอร์ฟี่ (Hallinger and Murphy, 1985 : 221 – 224) ได้เสนอองค์ประกอบความเป็นผู้นำทางวิชาการไว้ 11 ด้าน ได้แก่

                1. การกำหนดเป้าหมายโรงเรียน   

                2. การสื่อสารเป้าหมายของโรงเรียน

                3. การนิเทศและประเมินผลด้านการสอน

                4. การประสานงานการนำหลักหลักสูตรไปใช้

                5. การตรวจสอบความก้าวหน้าของนักเรียน

                6. การควบคุมการใช้เวลาในการจัดการเรียนการสอน

                7. การเอาใจใส่ต่อความคิดเห็นของครูและนักเรียน

                8. การจัดให้มีสิ่งจูงใจสำหรับครู

                9. การส่งเสริมให้มีการพัฒนาวิชาชีพครู

                10. การพัฒนาสร้างมาตรฐานด้านวิชาการของโรงเรียน

                11. การจัดให้มีสิ่งส่งเสริมสภาพการเรียนรู้ของนักเรียน

           เดวิส และโทมัส (Davis and Thomas, 1989 : 40) ได้กำหนดองค์ประกอบของพฤติกรรมของพฤติกรรมความเป็นผู้นำทางวิชาการไว้ 8 ประการ ดังนี้

                1. กระตุ้นให้ครูเกิดความตระหนักและเห็นด้วยในการพัฒนาโรงเรียนและมีความคาดหวังในผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้น    

                2. มีบทบาทสำคัญในการใช้กลยุทธ์เพื่อปรับปรุงงานโรงเรียน

                3. สร้างสิ่งจูงใจให้ครูและใช้ระบบการให้รางวัลในการสนับสนุนงานด้านวิชาการ

                4. กำกับติดตามดูแลความก้าวหน้าทางด้านวิชาการ

                5. ใช้ทรัพยากรบุคคลและวัสดุอย่างสร้างสรรค์

                6. สร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้ปลอดภัยและเป็นระเบียบเรียบร้อย

                7. ติดตามการปฏิบัติการสอนของครู

                8. สังเกตการณ์สอนของครูและให้ข้อมูลย้อนกลับ

            เฮค และคณะ (Heck and others, 1990 : 95) ได้เสนอพฤติกรรมความเป็นผู้นำทางวิชาการไว้ 7 ประการ ดังนี้

                1. กำหนดเป้าประสงค์ของโรงเรียน              

                2. สื่อสารให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทราบถึงความคาดหวังในผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูง

                3. จัดห้องเรียนให้เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนของครู

                4. อำนวยแหล่งทรัพยากรที่จำเป็นให้ครูในการจัดการเรียนรู้

                5. นิเทศผลการปฏิบัติงานของครู

                6. ตรวจสอบความก้าวหน้าของนักเรียน

                7. จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้และมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย

            วินเทอร์ และสวินนีย์ (Winter and Sweeney, 1994 cited in Lunenburg and Ornstein, 1996 : 322 - 323) ได้เสนอพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิผลโดยมีจุดเน้นทางด้านวิชาการ ดังนี้

                1. มีความคาดหวังสูงในผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน

                2. มีความชัดเจนในเรื่องของหลักสูตร

                3. มีความชัดเจนในเรื่องโปรแกรมการเรียนการสอน

                4. มีความชัดเจนในเรื่องเป้าหมาย จุดประสงค์และมาตรฐาน

                5. การใช้เวลาในการจัดการเรียนการสอนให้มาก

                6. เน้นทักษะในการอ่านและวิชาคณิตศาสตร์

                7. มีโปรแกรมการพัฒนาบุคลากร

                8. ให้ความสำคัญกับห้องเรียนและโปรแกรมการสอน

                9. มีการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ

                10. มีรางวัลให้แก่ครูและนักเรียน

                11. สร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้ปกครองนักเรียน

                12. ส่งเสริมให้โรงเรียนมีบรรยากาศในทางบวก

            เชล (Chell, 2001 : 9) ได้สรุปคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของการเป็นผู้นำทางวิชาการ จากมูลฐานการวิจัยในโรงเรียนที่มีประสิทธิผล ดังนี้

                1. มีการนิเทศและประเมินผลการสอน

                2. มีกิจกรรมการพัฒนาบุคลากร

                3. มีการจัดหลักสูตรที่พัฒนาความรู้และกิจกรรมนักเรียน

                4. ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม

                4. ส่งเสริมให้มีการทำงานวิจัย

                5. พัฒนาบรรยากาศในโรงเรียน

                6. สร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชน

           กลิคแมน (Glickman, 1990 cited in Chell, 2001 : 11) ได้กล่าวถึงคุณลักษณะภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารที่มีประสิทธิผล มีองค์ประกอบหลัก  3 ด้าน ดังนี้

                1. ด้านความรู้ (Knowledge) เป็นความรู้ที่จำเป็นสำหรับภาวะผู้นำทางวิชาการ เพื่อใช้ในการปฏิบัติภาระหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษา มีองค์ประกอบย่อย คือ

                    1.1 ความรู้เกี่ยวกับโรงเรียนที่มีประสิทธิผล

                    1.2 ความรู้เกี่ยวกับการสอนที่มีประสิทธิผล

                    1.3 ความรู้และความเชื่อเกี่ยวกับปรัชญาในการจัดการศึกษา

                    1.4 ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาทางการบริหาร

                    1.5 ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีการบริหารการเปลี่ยนแปลง

                    1.6 ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีหลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตร

                2. ด้านภาระหน้าที่ (Tasks) เป็นภาระหน้าที่ที่สัมพันธ์กับด้านความรู้ มีองค์ประกอบย่อย คือ

                    2.1 การนิเทศและประเมินผลการสอน

                    2.2 การพัฒนาบุคลากรและทีมงาน

                    2.3 การพัฒนาหลักสูตรและการนำหลักสูตรไปใช้

                    2.4 การพัฒนากระบวนการกลุ่ม

                    2.5 การทำวิจัยเชิงปฏิบัติการและการวิจัยในชั้นเรียน

                    2.6 การสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้

                    2.7 การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน

                3. ด้านทักษะ (Skills) เป็นการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิผลผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีทักษะภาวะผู้นำที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน จำแนกเป็น 8 ด้าน ดังนี้

                 3.1. ทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership Skills)

                        3.1.1 ทักษะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

                        3.1.2 ทักษะการติดต่อสื่อสาร

                        3.1.3 ทักษะการนิเทศ

                        3.1.4 ทักษะการแนะแนวทางการตัดสินใจร่วมกันของกลุ่ม

                3.2 ทักษะด้านเทคนิค (Technical Skills)

                      3.2.1 ทักษะการกำหนดเป้าหมายหรือการกำหนดวิสัยทัศน์

                      3.2.2 ทักษะการประเมินผลและการวางแผน

                      3.2.3 ทักษะการสังเกต

                      3.2.4 ทักษะการวิจัยและประเมินผล

            เฟลมมิ่ง และเฟลมมิ่ง (Flemming and Flemming, 2001 : 6 กล่าวว่า ผู้บริหารโรงเรียนต้องได้รับการฝึกทักษะการเป็นผู้นำทางวิชาการ ให้มีพฤติกรรมดังนี้

                1. สนับสนุนวิธีการสอนและการบริหารการเปลี่ยนแปลง

                2. ให้การสนับสนุนทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการสอนแก่ครู

                3. ให้ความสนใจเยี่ยมห้องเรียนเพื่อความมุ่งหมายต่อการพัฒนาการสอน

                4. สร้างแรงจูงใจและบรรยากาศการมีส่วนร่วม การกำหนดเงื่อนไขและให้ผลสะท้อนกลับ

                5. ใช้ข้อมูลในการพัฒนาหลักสูตรและการสอนเพื่อความสำเร็จของนักเรียน

                6. ใช้ข้อมูลของบุคลากรเพื่อกำหนดกิจกรรมพัฒนาวิชาชีพครู

           เว็บเบอร์ (Weber, 1989 cited in Lashway, 2002 : 2) ได้จำแนกภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารเป็น 5 ด้าน คือ

                1. กำหนดพันธกิจของโรงเรียน

                2. ส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ในทางบวก

                3. สังเกตและการให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ครู

                4. จัดการเกี่ยวกับหลักสูตรและการสอน

                5. ประเมินผลโปรแกรมการสอน

           แมคอีแวน (McEwan, 2003 : 13) กล่าวถึงองค์ประกอบบันได 7 ขั้น ในการที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้นำทางวิชาการที่มีประสิทธิผล คือ

                1. กำหนดมาตรฐานการศึกษาสู่การปฏิบัติให้บรรลุผล

                2. เป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน

                3. สร้างวัฒนธรรมและบรรยากาศของโรงเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้

                4. สื่อสารวิสัยทัศน์และพันธกิจของโรงเรียน

                5. ตั้งความคาดหวังสูงต่อบุคลากรและตนเอง

                6. พัฒนาบุคลากรครูให้เป็นผู้นำ

                7. พัฒนาและคงไว้ซึ่งเจตคติในทางบวกกับนักเรียน บุคลากรครูและผู้ปกครอง

           แวน เดเวนเธ่อร์ และครูเกอร์ (Van Deventer and Kruger, 2003 : 247) ได้สรุปองค์ประกอบพื้นฐาน 5 ประการที่เกี่ยวข้องกับภาระงานของภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหาร ดังนี้

                1. กำหนดพันธกิจของโรงเรียน

                2. การจัดการหลักสูตรและการสอน

                3. การนิเทศการสอน

                4. การติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน

                5. การส่งเสริมบรรยากาศทางวิชาการ 

           เรสนิค (Resnick, 2002 cited in Sergiovanni, 2004 : 83 - 84)  ได้ให้ข้อเสนอแนะถึงบทบาทของผู้บริหารในฐานะผู้นำทางวิชาการ ประกอบด้วย

                1. แนะนำครูในการวิเคราะห์ข้อมูลของนักเรียนในแต่ละชั้นเรียน

                2. แนะนำครูในการวิเคราะห์ผลงานของนักเรียนในชั้นเรียนและให้มีการเทียบเคียงกับมาตรฐานของโรงเรียนที่กำหนดไว้

                3. ให้การแนะนำครูในการนำตำราหรือสื่อการเรียนการสอนมาใช้ให้เกิดมาตรฐาน

                4. มีการเยี่ยมชั้นเรียนเพื่อสังเกตการณ์สอนของครู ประเมินผล และให้ข้อมูลย้อนกลับ

                5. วางแผนพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ

                6. ให้การแนะนำครูโดยการให้คำปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยง

          คณะกรรมการการศึกษารัฐเมรี่แลนด์ (Maryland  State Board of Education, 2005 : Online) ได้กำหนดกรอบงานภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษาทั้งในด้านเนื้อหาและทักษะที่สำคัญ โดยแบ่งเป็น 8 องค์ประกอบ ได้แก่ (สิร์รานี วสุภัทร, 2551 : 54, 55)

                1. การอำนวยความสะดวกในการพัฒนาวิสัยทัศน์ โดยผู้บริหารนำวิสัยทัศน์ของโรงเรียนที่ประกอบด้วยค่านิยม ความท้าทาย และโอกาสต่างๆ เพื่อการพัฒนาของนักเรียน มีกระบวนการเพื่อ ให้บุคลากรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ ดำเนินการนำวิสัยทัศน์ไปปฏิบัติ มีการทบทวนตรวจสอบโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และจัดหาทรัพยากรเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้วิสัยทัศน์เกิดผลสำเร็จ

                2. การร่วมกิจกรรมอย่างกลมเกลียวกัน เป็นการให้ความเคารพ สร้างทีมงาน และไว้วางใจอย่างแท้จริงในการประสานสัมพันธ์กับนักเรียน บุคลากร และผู้ปกครองนักเรียน ผู้บริหารมีความคาดหวังสูงต่อผู้เรียนและครูในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สร้างทีมภาวะผู้นำของโรงเรียนที่มี         ประสิทธิผล สร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ในการเรียนรู้ของนักเรียน และให้ครูมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

                3. การติดตาม ดูแลความร่วมมือในการนำหลักสูตรไปใช้ ผู้บริหารมีปฏิสัมพันธ์กับครูอย่างต่อเนื่องในการสร้างหลักสูตรที่เป็นมาตรฐานทั้งส่วนกลางและหลักสูตรท้องถิ่น และนำกลยุทธ์การสอนบนพื้นฐานงานวิจัยไปประยุกต์ งานมอบหมายของครูมีเป้าหมาย ท้าทายในระดับที่เหมาะสมและเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ และมีการประเมินผลอย่างสม่ำเสมอเพื่อวัดความก้าวหน้าของนักเรียน

                4. การสร้างความมั่นใจในกฎเกณฑ์การประเมินผล ผู้บริหารสร้างความมั่นใจในการประเมินผลผู้เรียนด้วยวิธีการที่หลากหลายเพื่อพัฒนาความร่วมมือ สร้างความมั่นใจในการใช้การประเมินผลระหว่างเรียนเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน การประเมินผลสรุปเพื่อเป็นพื้นฐานในการวัดผลสัมฤทธิ์ และการศึกษาผู้เรียนเป็นรายบุคคลเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนในชั้นเรียน

                5. การใช้เทคโนโลยีและข้อมูลที่หลากหลายในการพัฒนา ผู้บริหารส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลที่หลากหลายในการพัฒนาการเรียนการสอน ด้วยการสร้างความมั่นใจและกระตุ้นให้มีการใช้เทคโนโลยีการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิผล ใช้เว็บไซต์เพื่อการศึกษาค้นคว้า ทบทวนสรุปข้อมูลเป็นกลุ่มย่อย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจพัฒนาการเรียนการสอน และคณะครูร่วมมือกันวิเคราะห์ผลงานของผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ

                6. การสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน ผู้บริหารให้การสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพของบุคลากรโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน มีความสอดคล้องกับความต้องการของหลักสูตร การสอนและการประเมินผล และสัมพันธ์กับเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียน เปิดโอกาสให้ครูได้มีส่วนร่วมในการวางแผนและรับผลสะท้อนกลับ มีการพัฒนาวิชาชีพที่ตรงกับความต้องการของบุคลากร และมาตรฐานการพัฒนาวิชาชีพของหน่วยงานต้นสังกัด

                7. การสร้างและพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำให้บุคลากร ผู้บริหารสถานศึกษาสร้างและพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำให้แก่บุคลากรด้วยการสร้างโอกาสการเป็นผู้นำด้านการเรียนการสอน  กระจายอำนาจการตัดสินใจให้แก่ครู สร้างความผูกพันต่อสถานศึกษาให้แก่ครู และมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพและความสำเร็จของทีมผู้นำของสถานศึกษา

                8. การเสริมสร้างความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง ผู้บริหารเสริมสร้างความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องด้วยการให้การต้อนรับผู้ปกครองนักเรียน ผู้มีอุปการคุณ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาในโรงเรียน กระตุ้นให้เป็นสมาชิกร่วมปฏิบัติการปฏิรูปโรงเรียน ให้มีส่วนร่วมในวิถีชีวิตของโรงเรียน มีการกระจายการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

           ในงานวิจัยของ สิร์รานี วสุภัทร, 2551 : 194 ได้วิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจและ       เชิงยืนยันภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษาของคณะกรรมการการศึกษารัฐเมรี่แลนด์ (Maryland State Board of Education, 2005) โดยได้มีการปรับลดองค์ประกอบภาวะผู้นำทางวิชาการ เป็น 4 องค์ประกอบ และมีการเปลี่ยนชื่อ ดังนี้

                    1) การอำนวยความสะดวกในการพัฒนาวิสัยทัศน์

                    2) การสร้างความมั่นใจในการจัดการเรียนการสอน และการประเมินผล

                    3) การสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพ และ

                    4) การเสริมสร้างความเป็นผู้นำ และการมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน  

           ฮิวเบอร์ (Huber, 2007 : 30 - 34) ได้รวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณลักษณะเฉพาะของแนวการปฏิบัติความเป็นผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษามี 12  ประเด็นหลัก ดังนี้

                1. จัดหาทรัพยากรต่างๆ เพื่อช่วยให้ครูประสบผลสำเร็จในการจัดการเรียนการสอน

                2. มุ่งให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นเป้าหมายหลัก

                3. ให้ความสำคัญต่อความสำเร็จของนักเรียนและบุคลากรทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

                4. พัฒนาและกระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์กับบุคคลซึ่งเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียน

                5. พัฒนาวัฒนธรรมโรงเรียนเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

                6. ติดตามตรวจสอบการปฏิบัติด้านหลักสูตร การสอนและการประเมินผลของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

                7. มีความรู้เกี่ยวข้องกับหลักสูตรและการสอน และให้ความสำคัญกับงานวิจัยเกี่ยวกับการปฏิบัติทางการศึกษาที่มีประสิทธิผล

                8. เป็นผู้ที่สามารถพบเห็นและเข้าพบได้ง่าย

                9. ใช้ทีมภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาหลักสูตร นโยบายของโรงเรียน และส่งเสริมให้บุคลากรได้ดำเนินงานอย่างอิสระ

                10. ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาวิชาชีพ

                11. ออกแบบพฤติกรรมที่คาดหวังจากบุคคลอื่นและปฏิบัติตนที่สอดคล้องกับความเชื่อด้วยความตั้งใจที่จะให้เกิดผลในทางบวก

                12. มีความตระหนักในสถานการณ์ มีการปรับตัวในการปฏิบัติทางภาวะผู้นำต่อสถานการณ์ที่หลากหลาย

ที่มา   http://www.weerapong.net/index.php?lite=article&qid=627576

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Brainstorming >>> ระดมสมอง

   ก ารระดมสมอง (Brainstorming) การระดมสมองเป็นเทคนิคที่สนับสนุนให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา โดยไม่มีการประเมินว่าความคิดเห็นของใครว่าดีหรือไม่ดี ความคิดเห็นของทุกคนจะถูกรวบรวม และนำเสนอให้สมาชิกทุกคนได้ทราบ พร้อมทั้งสนับสนุนให้สมาชิกเสนอความคิดเห็นต่อเติมหรือเสริมของกันและกันได้ การระดมสมองถือว่าเป็นวิธีแรกที่เป็นเครื่องมือที่ลดการขัดขวาง และสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นของสมาชิก โดยการไม่มีการประเมินความคิดเห็นที่แสดงของ สมาชิก ลดการมีอิทธิพลของสมาชิกคนใดคนหนึ่ง โดยการมีวิธีสนับสนุนให้สมาชิกทุกคนได้มี โอกาสตอบให้ความคิดเห็นของสมาชิกคนอื่นอย่างสั้น ๆ นอกจากนั้นยังส่งเสริมการสร้างสรรค์ความคิดเห็นและบรรยากาศของการยอมรับสำหรับความคิดเห็นทุกชนิด การระดมสมองเป็น ส่วนหนึ่งที่จะสร้างความสำเร็จได้ ในการที่จะปรับปรุงการแสดงความคิดเห็น โดยการเปรียบเทียบกับการแก้ปัญหาโดยกลุ่ม ในลักษณะธรรมดาทั่ว ๆ ไป อย่างไร

การสนทนากลุ่ม (Focus group)

การสนทนากลุ่ม   ( Focus Group)   ความเป็นมา   การสนทนากลุ่ม (Focus Group) ได้มีการพัฒนาขึ้นครั้งแรกระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1945) โดยนำมาใช้ในการประเมินประสิทธิผลของรายการวิทยุกระจายเสียงที่ออกอากาศในช่วงนั้น พอสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ค.ศ. 1946 ได้มีการนำมาใช้ในกลุ่มที่ทำงานทางด้านสังคมศาสตร์ (Social Sciences) มีลักษณะเป็นการสนทนาถกแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาที่มีการกำหนดหัวข้อเฉพาะบางประเด็นของผู้จัด (Organizer) โดยกลุ่มคนที่เข้าร่วมประมาณ 8-10 คน ซึ่งเรียกว่า เป็น Participants หรือ Respondents โดย ผู้ที่จะเข้าร่วมการทำ Focus group จะได้รับการคัดเลือก (Screen) ตามเงื่อนไขมาอย่างดี (กรมการพัฒนาชุมชน, ม.ป.ป. เว็บไซต์) ความหมายของการสนทนากลุ่ม   สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย [สำนักงาน สกว.] (2551. เว็บไซต์) ได้ให้ความหมายของการสนทนากลุ่มไว้ว่า การสนทนากลุ่ม หมายถึงการรวบรวมข้อมูลจากการสนทนากับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลในประเด็นปัญหาที่เฉพาะเจาะจง โดยมีผู้ดำเนินการสนทนา (Moderator) เป็นผู้คอยจุดประเด็นในการสนทนา เพื่อชักจูงให้กลุ่มเกิดแนวคิดและแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นหรือ

โรงเรียนในฝัน...โรงเรียนของหนู จริงหรือ

  หลายท่าน..คงสงสัย โรงเรียนในฝันมันคืออะไร....ซึงผู้ใหญ่หลายท่าน... (รวมทั้งผม) ยังไม่เข้าใจในความคิดรวบยอด หากเรามองดู.. โรงเรียนในฝันใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษ(พะกิตตามที่เราเข้าใจ) ว่า Lab School ถ้าแปลความหมาย.. Lab คือ ห้องปฎิบัติการ (ที่มา..google เมนู แปลภาษา) School คือ โรงเรียน (ที่มา..google เมนู แปลภาษา) ถ้ารวมกันคงไม่ต้องอธิบาย เพราะท่านน่าจะทราบดีอยู่แล้ว...   การดำเนินการง่ายๆ คือ มีคณะกรรมการตรวจเยี่ยม ซึ่งในที่นี้จะขอใช้คำว่า คณะกรรมการ เข้าไปเยี่ยมเพื่อดูความพร้อมของโรงเรียนในการใช้ห้องปฏิบัติที่ให้นักเรียนใช้ห้องได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล....     นักเรียนเกิดทักษะ กระบวนการ ความรู้ เจตคติ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์  ตามที่หลักสูตรกำหนดไว้หรือไม่ ผู้บริหารหลายท่าน.....  ครูหลายคน..... นักการศึกษาอีกมากมาย...... รวมทั้งศึกษานิเทศก์.... ยังมองภาพการดำเนินงานไม่ออก มองเป็นประเด็นทางด้านการเมือง.........(ซึ่งอันนี้แล้วแต่...เขาจะลากไป (เขาในที่นี้ขออนุญาตไม่เอ่่ย...ครับ) แต่แท้ที่จริงแล้ว...หลังจากเข้าร่วมในภารกิจตรวจเยี่ยม.... คือทำ